หัวใจเป็นอวัยวะที่สำคัญอย่างมากต่อร่างกายของเรา มันมีหน้าที่สูบฉีดโลหิตเพื่อที่จะสามารถนำพาออกซิเจนและธาตุอาหารที่สำคัญต่างๆให้ไปยังทุกส่วนของร่างกายเรา แต่ถ้าหากว่าหัวใจของเรานั้นเกิดปัญหาขึ้นมาก็คงจะไม่ดีแน่ และถ้าหากคุณมีอาการของโรคหัวใจที่กำลังจะกล่าวถึงในบทความนี้ ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้โดยเฉพาะ เพื่อที่จะได้รับการรักษาอาการของโรคนี้ได้อย่างทันท่วงที
โรคหัวใจที่สามารถพบได้จะมีอยู่ด้วยกันดังนี้
-
โรคหลอดเลือดหัวใจ
เกิดจากการที่มีไขมันไปเกาะบริเวณภายในผนังหลอดเลือดหัวใจ ส่งผลให้หลอดเลือดเกิดการตีบตัน ทำให้เกิดการปิดกั้นทางเดินของกระแสโลหิต ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จึงมีอาการเจ็บหน้าอก มีอาการหายใจติดๆขัดๆ หากหัวใจไม่สามารถที่จะสูบฉีดโลหิตได้เลยอาจจะส่งผลให้หัวใจวายได้ การป้องกันทำได้โดยการทานอาหารไขมันต่ำ เน้นผัก ผลไม้ งดการสูบบุหรี่ ออกกำลังกาย และลดความเครียด
-
โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
อาการของโรคนี้ คือ จะมีอาการใจสั่น เจ็บหน้าอก ร่างกายจะมีอาการอ่อนเพลียจนอาจเป็นลมหมดสติ ซึ่งเกิดจากสาเหตุที่หัวใจเต้นช้าหรือเร็วผิดปกติ ส่งผลทำให้เลือดไปเลี้ยงตามส่วนต่างๆของร่างกายได้ไม่เพียงพอ โดยการป้องกันนั้นให้ลดความเครียดลงซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้ ลดการดื่มชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนสูง งดการสูบบุหรี่
-
โรคลิ้นหัวใจ
โรคนี้จะแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ โรคลิ้นหัวใจตีบ และโรคลิ้นหัวใจรั่ว
- โรคลิ้นหัวใจตีบ คือ การที่ลิ้นหัวใจมีการเปิดและปิดไม่สุด ทำให้เลือดนั้นออกจากห้องหัวใจได้ยากขึ้น ส่งผลทำให้เกิดความดันและเลือดที่สะสมอยู่นั้นย้อนกลับไปที่ห้องหัวใจและหลอดเลือด
- โรคลิ้นหัวใจรั่ว คือ การที่ลิ้นหัวใจมีการปิดไม่สนิท ทำให้การไหลเวียนเลือดในหัวใจมีประสิทธิภาพลดลง
อาการของโรคนี้นั้นผู้ป่วยจะหายใจติดขัด เหนื่อยง่าย หายใจไม่สะดวก มีอาการแน่นหน้าอก ใจสั่น เป็นลม หน้ามืด ไม่สามารถนอนราบได้ ขาบวม ตัวบวม มีอาการท้องอืด น้ำท่วมปอด และอาจหัวใจล้มเหลวได้
-
โรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ
ผู้ป่วยจะมีไข้สูง อ่อนเพลีย มีอาการหนาวสั่น เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง มีอาการปวดเมื่อยตามข้อตามกล้ามเนื้อ ร่างกายผอม หน้าซีดดูไม่มีน้ำมีนวล และอาจจะมีอาการเลือดออกร่วมด้วย เช่น มีเลือดกำเดาไหล หรืออาจจะมีจุดแดงๆขึ้นตามเนื้อตามตัวของผู้ป่วย โดยโรคนี้มักพบในผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ
-
โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
โรคนี้คือความผิดปกติของหัวใจตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา สามารถพบได้ในเด็กทารกแรกเกิดและเด็กเล็ก เด็กที่มีอาการป่วยจะมีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ เหนื่อยง่าย มีสีเขียวคล้ำตามปลายเท้า ปลายมือ ที่ลิ้น ที่เยื่อบุตา และริมฝีปาก และเติบโตช้ากว่าเด็กปกติทั่วไป
โรคหัวใจนั้นสามารถป้องกันได้โดยการทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง ออกกำลังกาย นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ลดความเครียดลง และงดการสูบบุหรี่ จะเห็นได้ว่าการป้องกันก็คือหลักดูแลสุขภาพโดยทั่วไปนั่นเอง